บทความนี้จะอภิปรายโดยสังเขปถึงประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานแพลตฟอร์มเรียกรถและส่งอาหาร หรือที่มักเรียกกันว่า “ไรเดอร์” ข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้รวบรวมจากการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมและการทำแบบสอบถามกับไรเดอร์ 435 คน ซึ่งอาศัยและทำงานในกรุงเทพกับจังหวัดอื่นอีกสามจังหวัด กล่าวคือ ขอนแก่น อ่างทองและปัตตานี จากการสังเกตการประท้วงและการสัมภาษณ์ผู้นำหลายคนของหลายองค์กรที่เกิดจากการจัดตั้งของกลุ่มไรเดอร์ ผู้เขียนพบว่าความไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ไรเดอร์เกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจที่พวกเขามีต่อความเชื่อมโยงกันระหว่างความสัมพันธ์ในการจ้างงานและการคุ้มครองทางสังคม
ปัญหาของไรเดอร์
จากการวิเคราะห์การประท้วงทั้ง 19 ครั้งที่กลุ่มไรเดอร์ต่างๆ เป็นแกนนำระหว่างเดือนมกราคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ผู้เขียนพบว่าข้อเรียกร้องของไรเดอร์มีจุดมุ่งเน้นอันดับแรกอยู่ที่ค่าจ้างและเงินจูงใจ (89.5%) ปัญหาการทำงานผิดพลาดของอัลกอริทึมในแพลตฟอร์ม (41.2%) การเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน (41.2%) และเรียกร้องประกันอุบัติเหตุ ( 11.8%) ข้อเรียกร้องทั้ง 4 ประการนี้มีความเชื่อมโยงกันและได้รับการยืนยันซ้ำจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็น ค่าจ้างและเงินจูงใจของไรเดอร์ลดลงพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น Grab จ่ายให้ไรเดอร์ในกรุงเทพฯ ประมาณ 60 บาทในปี 2561 แต่ปัจจุบันจ่ายแค่ 38 บาท ในประเด็นของค่าจ้างและเงินจูงใจนี้ บริษัทแพลตฟอร์มตอบสนองเพียงแค่บอกว่าตลาดมีการแข่งขันสูงมาก บริษัทแพลตฟอร์มอ้างว่าเพื่ออยู่รอดให้ได้ในธุรกิจนี้ พวกตนจำต้องลดค่าจ้างและเงินจูงใจลง ค่าจ้างที่ลดลงหมายความว่า ไรเดอร์ต้องเพิ่มเวลาทำงานไปอีกหลายชั่วโมงเพื่อรักษาระดับรายได้ให้ได้เท่าเดิม จากการสำรวจความคิดเห็น ไรเดอร์หลายคนยืนยันข้อนี้และเล่าให้ฟังว่า ชั่วโมงทำงานของพวกเขานานขึ้นกว่าเดิมจริงๆ 36.6% ให้ข้อมูลว่าต้องทำงาน 41-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 44.8% ให้ข้อมูลว่าทำงานเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การแข่งขันที่เข้มขึ้นขึ้นกว่าเดิมในหมู่ไรเดอร์ด้วยกัน เนื่องจากจำนวนไรเดอร์เพิ่มมากขึ้นพอสมควรทีเดียว นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไรเดอร์ได้งานน้อยลงและต้องเตรียมพร้อมรองานนานกว่าเดิมหลายชั่วโมงเพื่อรักษาระดับรายได้ของตน
ชั่วโมงทำงานที่นานเช่นนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ตามข้อมูลจากแบบสอบถาม 33.5% ของผู้ให้ข้อมูลบอกว่าเคยประสบอุบัติเหตุ ซึ่งมีตั้งแต่ตกจากมอเตอร์ไซค์ ถูกยานพาหนะคันอื่นชน หรือชนกับยานพาหนะอื่น อัลกอริทึมที่เปลี่ยนไปบีบให้ไรเดอร์ต้องรับงานจากลูกค้าหลายคนพร้อมกัน อันอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ อัลกอริทึมจับคู่มักจับคู่งานตามคะแนนที่ไรเดอร์ได้รับจากลูกค้าก่อนหน้านี้ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกค้าตำหนิไรเดอร์ว่าส่งอาหารช้าและตามมาด้วยการให้คะแนนความพึงพอใจต่ำเป็นการลงโทษไรเดอร์คนนั้น ไรเดอร์ส่งอาหารจึงรีบมากขึ้นเพื่อเอาใจลูกค้า อันนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
ไรเดอร์ให้ข้อมูลด้วยว่า พวกเขามักประสบปัญหาสืบเนื่องจากการทำงานผิดพลาดของแอพพลิเคชั่นของแพลตฟอร์ม จากการสำรวจข้อมูล 51.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยพบเจอการทำงานผิดพลาดของแอพพลิเคชั่น เช่น แอพค้าง ช้า ผิดพลาด และไม่สามารถทำงานต่อ ปัญหาที่พบมากที่สุดอันดับสองเกี่ยวข้องกับระบบแผนที่และ GPS ชี้ตำแหน่งรับสินค้าและนำส่งไม่ถูกต้อง ทำให้เสียเวลา เพิ่มต้นทุนค่าน้ำมัน และบางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งกับลูกค้า
ข้อเรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์และการนิ่งเฉยของบริษัทแพลตฟอร์มสะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายไรเดอร์จำเป็นต้องมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ หากไรเดอร์สามารถสร้างปฏิบัติการร่วมกันเป็นหมู่คณะในระดับสูงกว่านี้ อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนสังเกตการณ์การประท้วงทั้ง 19 ครั้ง ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถรวมพลังไรเดอร์ข้ามแพลตฟอร์มได้ ในส่วนถัดไป เราจะอภิปรายกันถึงขบวนการของไรเดอร์และความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการต่างๆ
ภายในขบวนการไรเดอร์ไทย
ไรเดอร์มักรวมตัวกันทางแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งแรกที่ผู้เขียนพบเจอการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในหมู่ไรเดอร์นั้น อยู่ในช่วงที่เริ่มต้นทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่มีต่อภาคบริการ (Wantanasombut & Teerakowitkajorn, 2018) ย้อนกลับไปในตอนนั้น ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าไรเดอร์รวมตัวกันบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแบ่งบันข้อมูลกันเกี่ยวกับชีวิตการทำงานประจำวันและสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรม บางครั้งพวกเขาก็จัดการพบปะสังสรรค์กันในกลุ่มเพื่อทำความรู้จักหรือจัดกิจกรรม เช่น ออกไปเที่ยวนอกเมืองและกิจกรรมการกุศล กลุ่มเหล่านี้เริ่มได้รับความสนใจจากไรเดอร์คนอื่นๆ ทำให้จำนวนสมาชิกและผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไรเดอร์หลายคนเป็นสมาชิกมากกว่าหนึ่งกลุ่ม มีบางกลุ่มที่เติบโตจากสมาชิกสองสามร้อยคนจนมีมากกว่าหนึ่งแสนคน เราสามารถแบ่งกลุ่มไรเดอร์ออกเป็นสองประเภท กล่าวคือ กลุ่มกดดันกับกลุ่มร้องทุกข์ กลุ่มกดดันคือกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น คอยกดดันบริษัทแพลตฟอร์มโดยอาศัยการประท้วง การนัดหยุดงาน และการยื่นข้อเรียกร้อง กลุ่มร้องทุกข์หมายถึงกลุ่มที่สมาชิกส่วนใหญ่มารวมตัวกันเพื่อแสดงความไม่พอใจ และเลือกใช้วิธีการที่ประนีประนอมมากกว่าในการเจรจากับบริษัทแพลตฟอร์ม
ภายในกลุ่มกดดัน ซึ่งเป็นจุดสนใจของบทความนี้ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลักๆ สามกลุ่มด้วยกัน นั่นคือ แกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน, สหภาพไรเดอร์ และ สมาคมไรเดอร์ไทย แม้ว่าทั้งสามกลุ่มนี้ต่างก็ต่อสู้กับบริษัทแพลตฟอร์ม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ลงรอยกันเสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น เดิมทีสหภาพไรเดอร์คือสหภาพ Lalamove ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การลดค่าจ้างของแพลตฟอร์มนี้
ความเติบโตของตลาดตามสั่งตามส่งอาหารดึงดูดความสนใจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ รวมทั้ง Line ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย Line Thailand ซึ่งเป็นสาขาของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น เริ่มขยายขอบเขตธุรกิจของตน เริ่มด้วยการให้ผู้ใช้บริการส่งข้อความดิจิทัลเรียกพนักงานรับส่งเอกสารผ่านแพลตฟอร์มของตน บริการที่ขยายเพิ่มเติมนี้เป็นที่รู้จักในชื่อเรียกว่า “ไลน์แมน” ต่อมา Line Thailand ก็เข้าสู่ตลาดส่งอาหารและเข้าควบรวมกิจการ Wongnai ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแนะนำร้านอาหารที่มีชื่อเสียง และเก็บรวบรวมข้อมูลชุดใหญ่ของร้านอาหารมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศไทย (Chinsupakul, 2020) ข้อตกลงควบรวมและเข้าซื้อกิจการระหว่างสองบริษัทนำไปสู่การก่อตั้งบริษัท Line Man Wongnai (LMWN) ในช่วงเริ่มแรก LMWN ไม่มีไรเดอร์เป็นของตัวเอง จึงทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนกับ Lalamove แพลตฟอร์มบริการขนส่งจากฮ่องกงที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเช่นกัน ในเวลาต่อมา เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น ตลาดเริ่มมีการแข่งขันรุนแรงจน LMWN ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องตัดต้นทุนด้วยการยกเลิกความเป็นหุ้นส่วนกับ Lalamove และบริหารจัดการส่วนของบริการส่งสินค้าและอาหารเอง LMWN เสนอให้อดีตไรเดอร์ของ Lalamove ที่เคยทำงานให้ตน สมัครใจย้ายจาก Lalamove มาทำงานกับ LMWN ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เอง สหภาพ Lalamove มีบทบาทนำในการต่อรองค่าจ้างและสภาพการทำงานโดยอาศัยคำแนะนำจากเอ็นจีโอและองค์กรแรงงาน อาทิ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) และ Solidarity Center (SC) เนื่องจากไรเดอร์ของ Lalamove แยกออกเป็นสองแพลตฟอร์ม สหภาพ Lalamove จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพไรเดอร์ เพื่อเป็นตัวแทนของไรเดอร์ทั้งสองกลุ่ม และต่อมาก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้ไรเดอร์ของบริษัทแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย ด้วยการสนับสนุนจากเอ็นจีโอท้องถิ่นและองค์กรแรงงาน สหภาพไรเดอร์สามารถผูกพันธมิตรกับองค์กรภาคประชาสังคม ขบวนการทางสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ และพรรคการเมืองต่างๆ ในบรรดากลุ่มกดดันที่มีอยู่ สหภาพไรเดอร์มีแนวคิดก้าวหน้ามากที่สุดและมักเคลื่อนไหวเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ข้อเรียกร้องหลักประการหนึ่งของสหภาพไรเดอร์ก็คือ เรียกร้องให้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานครอบคลุมถึงไรเดอร์ด้วย สหภาพไรเดอร์เห็นว่า ไรเดอร์ควรได้รับสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์ม ตอนนี้สหภาพไรเดอร์กำลังดำเนินการจัดตั้งกลุ่มไรเดอร์ตามพื้นที่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ
กลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน ก่อตั้งขึ้นสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบเดิม ที่เรียกกันว่า วิน ในภาษาปากของไทย กับไรเดอร์ที่บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้าง การจะทำงานเป็น วิน ได้ ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานราชการไทยที่กำหนดมาตรฐานบางอย่างไว้ เช่น ขนาดเครื่องยนต์ ใบขับขี่รถสาธารณะ ค่าธรรมเนียม ฯลฯ แต่เมื่อ Grab เข้ามาในตลาดนี้ แพลตฟอร์มเพิกเฉยต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ วิน ทั้งหมด ใครก็ได้ที่มีมอเตอร์ไซค์สามารถทำงานกับแพลตฟอร์ม ดังนั้น แพลตฟอร์มจึงสร้างความปั่นป่วนไม่เพียงต่อกฎหมาย แต่รวมถึงสั่นคลอนความมั่นคงของงานแก่ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ด้วย การตอบโต้ของผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รุนแรงทีเดียว เพราะพวกเขามองว่าไรเดอร์แพลตฟอร์มมาแย่งงานของตนอย่างผิดกฎหมาย วินมอเตอร์ไซค์จึงมักรุมล้อมไม่ให้ไรเดอร์รับผู้โดยสารในพื้นที่ของตน ถ่ายรูปทะเบียนรถของไรเดอร์ และรายงานไรเดอร์แก่หน่วยงานราชการ ทะเลาะกับไรเดอร์ และในหลายกรณี การทุ่มเถียงก็บานปลายกลายเป็นการทำร้ายร่างกายกัน กลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกันก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อสถานการณ์แบบนี้ ถ้าไรเดอร์จากแพลตฟอร์มถูกสกัดขัดขวางหรือถูกข่มขู่จากวินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์จากแพลตฟอร์มสามารถโทรขอความช่วยเหลือจากไรเดอร์คนอื่นๆ ในกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะรีบเดินทางมาให้ความช่วยเหลือ กลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกันทำหน้าที่เป็นแกนนำการประท้วงด้วย ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน และในระยะหลังคือการยื่นคำร้องขอให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในแอพพลิเคชั่นเรียกรถเป็นอาชีพถูกกฎหมาย (Wantanasombut, 2023)
กลุ่มกดดันหลักกลุ่มที่สามคือ สมาคมไรเดอร์ไทย แกนนำของกลุ่มนี้เคยทำงานใกล้ชิดกับสหภาพไรเดอร์ แต่ภายหลังแยกตัวออกมาเพราะไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายและเกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการสนับสนุนที่สหภาพไรเดอร์ได้รับจากเอ็นจีโอในประเทศและองค์กรแรงงาน หลังจากมีเรื่องวิวาทหลายครั้งกับผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ แกนนำของสมาคมไรเดอร์ไทยเริ่มสนิทสนมกับสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รับจ้างสาธารณะ และได้รับคำแนะนำให้สมาคมไรเดอร์ไทยจดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้น สมาคมไรเดอร์ไทยจึงเป็นกลุ่มไรเดอร์กลุ่มแรกที่จดทะเบียนกับราชการ ในขณะที่สหภาพไรเดอร์และกลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ ถึงแม้สหภาพไรเดอร์จะเรียกตัวเองว่า “สหภาพ” แต่กฎหมายแรงงานไทยกีดกันพวกเขาจากการจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ เพราะหน่วยงานราชการไม่ถือว่าไรเดอร์เป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัทแพลตฟอร์ม ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของแกนนำสมาคมไรเดอร์ไทยกับผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีกับกลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกันเกิดความหมางเมิน เพราะกลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกันมองว่าผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์เป็นคู่ปรปักษ์โดยตรงของไรเดอร์แพลตฟอร์ม
ความยืดหยุ่นและสภาวะไม่มั่นคง
การเป็นไรเดอร์ให้ความยืดหยุ่นและความอิสระแก่ไรเดอร์ก็จริง แต่มักแลกมาด้วยต้นทุนบางอย่าง ดังที่กล่าวถึงในตอนต้นแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ที่ไรเดอร์ต้องเผชิญ เช่น ความไม่มั่นคงของรายได้ การขาดสิทธิประโยชน์ ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย เสรีภาพในการรวมตัว และสิทธิในการต่อรองเป็นหมู่คณะ ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า สภาวะไม่มั่นคงของงาน เป็นประเด็นที่ได้รับการอภิปรายถึงบ่อยครั้ง ในงานแพลตฟอร์ม ความยืดหยุ่นและสภาวะไม่มั่นคงมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ได้อย่างเสียอย่าง ในบริบทของไทย เรื่องนี้เป็นผลพวงจากการจัดประเภทความสัมพันธ์ของการจ้างงานและการคุ้มครองทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย
ตามกฎหมายแรงงานไทย ผู้รับจ้างที่จ้างงานตัวเองและรับงานอิสระไม่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) ซึ่งคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน อาทิ ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ สภาพการทำงาน การเลือกปฏิบัติ ฯลฯ อีกทั้งพวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์) ซึ่งรับรองเสรีภาพในการรวมตัว การต่อรองเป็นหมู่คณะ การปิดสถานที่ทำงานและการนัดหยุดงาน ตลอดจนการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ จากผู้ว่าจ้าง เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ไม่คุ้มครองไรเดอร์แพลตฟอร์ม พวกเขาจึงได้รับการคุ้มครองภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แทน
ในการบ่งชี้ความสัมพันธ์ในการจ้างงานของไรเดอร์ เราต้องพิจารณาคำนิยามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังต่อไปนี้ 1) คำนิยามของงานที่แล้วเสร็จ 2) การจ่ายค่าจ้างเมื่องานหรือบริการแล้วเสร็จ 3) การควบคุมเหนือกระบวนการทำงาน 4) ความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต 5) ความรับผิดชอบต่อความเสียหาย จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ในการจ้างงานของไรเดอร์ค่อนข้างพร่าเลือน ในบางบรรทัดฐาน ไรเดอร์เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มอย่างชัดเจน แต่ในบรรทัดฐานอื่น ไรเดอร์ถือเป็นผู้รับจ้างอิสระ นอกจากนี้ยังมีประเด็นของเครื่องมือและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต ซึ่งก้ำกึ่งอยู่ระหว่างทั้งสองด้านของความสัมพันธ์ในการจ้างงาน เนื่องจากสมาร์ทโฟนเป็นของไรเดอร์ แต่แอพพลิเคชั่นเป็นของบริษัทแพลตฟอร์ม
Source: Wantanasombut and Pitukthanin (2021)
ด้วยเหตุนี้ ไรเดอร์แพลตฟอร์มจึงไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หรือ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ดังนั้น เพื่อลดสภาวะไม่มั่นคง จึงมีผู้สันทัดกรณีหลายคนแนะนำว่า ไรเดอร์ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็น ถึงแม้ไรเดอร์ต้องการสภาพการทำงานที่ดีขึ้น แต่ 51.7% ยืนยันว่า พวกเขาอยากเป็นผู้รับจ้างอิสระมากกว่า ความย้อนแย้งนี้นำไปสู่ความไม่เห็นพ้องต้องกันในหมู่กลุ่มกดดัน โดยเฉพาะจากการที่สหภาพไรเดอร์มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าไรเดอร์คือลูกจ้าง ในขณะที่กลุ่มแกร็บเคลื่อนที่เร็วเราช่วยกันและสมาคมไรเดอร์ไทยเชื่ออีกอย่างหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่กลุ่มกดดัน
สรุป
ความยืดหยุ่นและสภาวะไม่มั่นคงไม่ควรเป็นการได้อย่างเสียอย่าง พึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างรอบด้านเพื่อสร้างความสมดุลแก่ความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวกับความมั่นคงขั้นพื้นฐานของแรงงานแพลตฟอร์ม ประการแรก เราต้องทบทวนการจัดประเภทไรเดอร์หรือแรงงานแพลตฟอร์มเพื่อสร้างหลักประกันให้มีการคุ้มครองมากขึ้น การคุ้มครองทางสังคมต่อกลุ่มแรงงานทุกประเภทควรมีหลักประกันเท่าเทียมกัน เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันอีกประการคือการรับประกันรายได้ขั้นต่ำและความโปร่งใสของอัลกอริทึมแพลตฟอร์ม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ไรเดอร์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน การมีช่องทางให้ไรเดอร์ได้ส่งเสียงแสดงออกถึงความทุกข์ร้อน และการต่อรองเงื่อนไขต่างๆ อย่างเป็นหมู่คณะผ่านสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมาย จะช่วยให้ข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการรับฟังและยอมรับจากบริษัทแพลตฟอร์มมากขึ้น หากมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบเหล่านี้เข้าไป ผู้เขียนเชื่อว่าจะสามารถสร้างกรอบโครงบางอย่างที่จะทำให้ความยืดหยุ่นและความมั่นคงสำหรับไรเดอร์แพลตฟอร์มดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
References
Chinsupakul, Y. (2020, August 6). Facebook. Retrieved October 16, 2023, from https://www.facebook.com/yod.chinsupakul/posts/10223503012863396
Eukeik.ee. (16 September 2020). (Analysis) Why GET need rebranding to be Gojek? Retrieved August 1, 2021, from https://marketeeronline.co/archives/188145
Matemate. (2020, June 12). Robinhood is a small application that may change the entire Food Delivery business. Retrieved August 10, 2021, from https://brandinside.asia/robinhood-food-delivery/
MGR Online. (2020, October 1). ‘“Lineman Wongnai” soared into National Champion with 3.7 ten billion baht. Retrieved 17 October 17, 2022, from https://mgronline.com/business/detail/9650000095152
Prachachat. (28 July 2021). “Foodpanda” lessons from crisis and a second chance. Retrieved 30 July 2021 From https://www.prachachat.net/ict/news-724414
Techasriamornrat, S. (2021, January 26). Robinhood enhanced to other provinces after an 88-day plan in delivery competition. Retrieved August 10, 2021, from Workpoint TODAY: https://workpointtoday.com/robinhood-plan-64/
Transport Journal. (2021, February 1). Dhipaya Insurance Public Company cooperates with Gojek on an on-demand service via GoSend. Transport Journal
Wantanasombut, A. (2023, February 27). Another double standard to come: The legalisation of ride-hailing in Thailand. LSE Southeast Asia Blog. Retrieved October 16, 2023, from https://blogs.lse.ac.uk/seac/2023/02/23/another-double-standard-to-come-the-legalisation-of-ride-hailing-in-thailand/
Wantanasombut, A. & Pitukthanin, A. (2021, August). Riders – Heroes – Chains — the Working Conditions and Social Security of Food Delivery Workers on the Platform Economy during the COVID-19 Pandemic. Collaborating Center for Labour Research, Chulalongkorn University.
Wantanasombut, A. & Teerakowitkajorn, K. (2018). Platform Economy and its impact on service workers: case studies from Thailand. Bangkok: Friedrich-Ebert-Stiftung. https://library.fes.de/pdf- files/bueros/thailand/14771.pdf
Comments