
บทสรุปผู้บริหาร
กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย ได้จัดตั้งขึ้นตามมติกรรมการบริหารสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 2/2566 ในลักษณะที่เป็นพื้นที่ตัวกลางเชื่อมโยงกับโครงการยุทธศาสตร์เพื่อประโยชน์กับสถาบัน ในเบื้องต้นมีกำหนดการดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปี (2566-2568) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
ศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลในฐานะนวัตกรรมที่นำไปสู่สังคมสมานฉันท์ และเศรษฐกิจถ้วนถึง
บูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนหาแนวทางที่เหมาะสมในการใช้งานและบริหารจัดการผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่นำไปสู่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าว การดำเนินงานของกลุ่มวิจัยยังมีเป้าหมายในการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของสถาบันเอเชียศึกษา และ OKRs ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภาพรวม ได้แก่
เป้าร่วมที่ 1: เพิ่มผลงานตีพิมพ์วิจัย ผลงานวิชาการ คุณภาพสูง
เป้าร่วมที่ 2: ผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม
เป้าร่วมที่ 3: พัฒนาชุมชนและสังคมเพื่อความยั่งยืน
เป้าร่วมที่ 4: นิสิต บุคลากรได้เรียนรู้หรือทำงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ
เป้าร่วมที่ 5: นิสิต บุคลากรประสบความสำเร็จระดับสากล มีส่วนร่วมระดับโลกและร่วมแก้ปัญหาโลก พร้อมสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติ
กลุ่มวิจัยได้กำหนดผลผลิตขั้นต่ำเพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดความสามารถ (Key Performance Index - KPI) รายปี ในการประเมินการดำเนินงานรายปีของกลุ่มวิจัย โดยการดำเนินงานของกลุ่มวิจัยฯ ในปีที่ 1 มีผลการดำเนินการโดยสรุปดังนี้
ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ประเภทวารสาร/สิ่งพิมพ์วิชาการรวม 5 บทความ
จำนวนเงินทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก รวมทั้งสิ้น 18,193,593 บาท แบ่งเป็นเงินทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกที่ได้รับในฐานะหัวหน้าโครงการ 5,932,111 บาทและในฐานะนักวิจัยร่วมโครงการ 12,261,482 บาท
การนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและสังคมรวมทั้งหมด 10 ครั้ง
การนำเสนอผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ 4 ครั้ง
แม้กลุ่มวิจัยฯ จะมีผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพึงพอใจ ทว่ายังมีความท้าทายหลายประการที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ เช่น การขาดแคลนกำลังคนและระบบสนับสนุนที่เพียงพอ ส่งผลให้บุคลากรต้องแบกรับภาระงานหนักและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร โดยกระบวนการภายในองค์กรที่ซับซ้อนยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิผล ขณะเดียวกัน ความไม่ชัดเจนในเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากร โดยเฉพาะผู้ช่วยวิจัย ทำให้เกิดการเปลี่ยนบุคลากรบ่อยครั้ง จึงต้องใช้เวลาสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรใหม่ ส่งผลให้โครงการวิจัยล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กลุ่มวิจัยฯ ได้วางแผนที่จะเพิ่มขอบเขตการวิจัยให้ครอบคลุมมากขึ้นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อแปลงองค์ความรู้จากท้องถิ่นและภาควิชาการสู่เครื่องมือที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน พร้อมกับมุ่งพัฒนาขีดความสามารถของนิสิตและบุคลากรในด้านนวัตกรรมดิจิทัลและการบริหารจัดการผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
โดยสรุป การดำเนินงานในปีแรกของกลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ กลุ่มวิจัยฯ มุ่งหวังที่จะขยายผลความสำเร็จเหล่านี้ในปีต่อๆ ไป พร้อมกับพัฒนาความร่วมมือในระดับสากลเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่สังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงที่ยั่งยืน
อ่านรายงานผลการดำเนินงานฉบับเต็มของเราได้ที่นี่:
댓글