เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ISSIE) และ Social Solidarity Economy Studies Center (SSESC) ร่วมจัดกิจกรรม “Movie & Talk” ครั้งที่ 2 โดยฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The True Cost เพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีคุณค่าและความหมายเกี่ยวกับประเด็นด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม
The True Cost ซึ่งเป็นสารคดีทรงพลังที่เจาะลึกถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมนุษย์จากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า (Fast Fashion) หลังการฉายภาพยนตร์มีเวทีเสวนากับวิทยากรทั้งหมด 4 ท่าน ได้แก่ พลอยธิดา เกตุแก้ว นักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม มานพ แก้วผกา อดีตคนงานในโรงงานสิ่งทอ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารโรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน “Dignity Returns” ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน และศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
การสนทนาครั้งนี้ได้พูดคุยถึงประเด็นสิทธิแรงงาน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น รวมถึงตั้งคำถามอย่างเป็นประโยชน์และน่าสนใจ โดยมีเนื้อหาบนเวทีเสวนา ดังนี้
ในมิติของสิ่งแวดล้อม คุณพลอยธิดา เกตุแก้ว ได้แสดงความเห็นว่า ในปัจจุบันวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเสื้อผ้า ได้เปลี่ยนจากผ้าฝ้ายมาเป็นพลาสติกถึงร้อยละ 60 ของเสื้อผ้าทั้งหมด นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่สอดคล้องกับในภาพยนตร์สารคดีว่าแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ นับได้ว่าเป็นแรงงานกลุ่มเปราะบางที่ต้องรับผลกระทบทางสุขภาพจากการปล่อยของเสียและสารเคมีในระหว่างกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่างๆ อย่างหนัก ทั้งนี้ยังได้ทิ้งท้ายความเห็นสำคัญเกี่ยวกับแฟชั่นทางเลือกว่า ในบางผลิตภัณฑ์แม้จะมีการโฆษณาสินค้าที่มีความคงทนและพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ผ่านกระบวนการผลิตให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กระนั้นแล้วการผลิตด้วยวัสดุที่คงทนเช่นนี้อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ของการย่อยสลายหรือกำจัดสินค้านั้นๆ ในอนาคตได้ ในส่วนมิติบทบาทของผู้บริโภค คุณพลอยธิดาเสนอว่าผู้บริโภคนั้นมีอำนาจเลือกซื้อและสนับสนุนสินค้าอยู่ในมือ ดังนั้นแล้ว หนึ่งในเครื่องมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการต่างๆ คือ การกดดันจากผู้บริโภคต่อผู้ประกอบการในการหันมาให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมแก่แรงงาน
ในขณะที่คุณมานพ แก้วผกา ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในมิติด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ตรง โดยบรรยายสภาพการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ว่าย่ำแย่เพียงใด และแรงงานขาดสวัสดิการ รวมถึงความบกพร่องของรัฐในการรับรองความมั่นคงในการดำรงชีวิตของแรงงานอย่างไร นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการจัดตั้งสหภาพแรงงานในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่าน แต่พบว่ากฎหมายและการดำเนินงานของรัฐนั้นไม่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแรงงานในลำดับถัดมา คุณมานพยังได้นำเสนอภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยชี้ให้เห็นว่าขนาดและจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จากที่เคยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่กลับเหลือเพียงโรงงานเล็กๆ รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบของแรงงานจากที่เคยทำงานในโรงงาน ก็โยกย้ายกลับไปทำงานที่บ้านของตนแทน ซึ่งเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการเข้ามาเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง ในอีกด้านหนึ่ง คุณมานพได้นำเสนอข้อมูลว่าในอุตสาหกรรมนี้พบแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางที่โดนเอารัดเอาเปรียบในภาคแรงงาน ทั้งในแง่ของค่าแรง และกระบวนการทางกฎหมายเพื่อขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง
ด้วยปัจจัยข้างต้นนี้เอง ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการก่อตั้งโรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน “Dignity Returns” เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมผ่านการจ้างงานที่เป็นธรรม และสร้างเสริมสภาพการทำงาน รวมถึงสวัสดิการที่เหมาะสมแก่แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ในส่วนสุดท้ายได้แก่การให้ความเห็นของนักวิชาการด้านแรงงานทั้งสองท่าน ได้แก่ อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา และศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ โดยอาจารย์ศักดินาได้ชี้ให้เห็นว่า หากมองย้อนกลับไปทางประวัติศาสตร์แล้วนั้น จะพบว่ารัฐไทยมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับทุนอย่างมีนัยสำคัญ และการตัดสินใจของรัฐนั้นอยู่บนฐานผลประโยชน์ของทุน มิใช่แรงงาน เป็นผลให้แรงงานซึ่งถือเป็นชนกลุ่มมากของประเทศนั้นมีความเปราะบางในระดับสูง ซึ่งสาเหตุของการตัดสินใจของรัฐนั้นมาจากความต้องการสำหรับการดึงดูดผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมทุนภายในผ่านการกดขี่แรงงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมองข้ามมิติของแรงงานไปโดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่ค่าแรง สภาพการทำงาน และสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เห็นการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของรัฐในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงสภาพการทำงานของแรงงาน โดยศาสตราภิชาน แล ได้ชี้ให้เห็นว่าการปรับตัวเพื่อแสดงออกถึงการปกป้องแรงงานโดยรัฐเช่นนี้นั้น มีที่มาสำคัญจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ (1) การเรียกร้องของแรงงาน เช่น สิทธิลาคลอด 90 วัน เป็นต้น และ (2) การกดดันจากประชาคมโลก อย่างไรก็ตามในปัจจัยที่สองนี้กลับส่องสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการพัฒนาและปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิของแรงงานนั้น เป็นเพียงแค่เครื่องมือหรือทางผ่านในการก้าวเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศของทุน มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของแรงงานภายในประเทศเป็นหลัก
กระนั้นแล้วอาจารย์ศักดินาได้นำเสนอข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ Supply Chain Act ที่เพิ่งได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปเมื่อเดือนเมษายน 2024 ที่ผ่านมาว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้อาจเป็นความหวังต่อโลกในอนาคต เนื่องจากส่งผลโดยตรงให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบให้มีความเป็นธรรมต่อแรงงาน และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากถือเป็นผลผูกพันระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการทุกแขนงต้องปรับตัวให้ทันตามกฎหมาย มิฉะนั้นจะโดนโทษทางกฎหมายและส่งผลเสียต่อตนเองในระยะยาว
และเมื่อมองย้อนกลับมาในบริบทการส่งเสริมสิทธิแรงงานในไทยจากรัฐ วิทยากรทั้งสองท่านมีความเห็นตรงกันว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องให้สัตยาบันในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 87 หรืออนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) และอนุสัญญาฉบับที่ 98 หรืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เนื่องจากเป็นประตูสำคัญในการเพิ่มบทบาทและอำนาจให้แก่แรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาพการทำงาน และสิทธิแรงงานได้อย่างยั่งยืน
กล่าวโดยสรุป ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อมแสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิตนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง หากยังส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ส่งผลให้กลายเป็นแรงงานกลุ่มเปราะบางยิ่งขึ้น ในขณะที่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสามารถทำได้ด้วย 2 วิธีการ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคพร้อมกับการกดดันผู้ประกอบการให้สนใจและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งในแง่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแก้ไขมาตรฐานการผลิตเพื่อปรับปรุง แก้ไข และส่งเสริมสภาพการทำงานของแรงงานให้ดีขึ้น และ (2) การดำเนินการของรัฐผ่านการให้สัตยาบันและแก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมสิทธิ แก้ไขสภาพการทำงาน และเพิ่มความมั่นคงในชีวิตให้แก่แรงงาน
Comments