Yvon Poirier
รชาดา บุรณศิริ, กฤตเมธ กิมเชีย และ ปรียนันท์ บุญจา แปลและเรียบเรียง
บทนำ
บทความชิ้นนี้เป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ห้านับจากฉบับดั้งเดิมที่เขียนในปี 2010 โดยฉบับปรับปรุงครั้งที่สามได้ถูกนำเสนอในการประชุม Asia Solidarity Economy Forum ครั้งที่ 3 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (วันที่ 31 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2011) และรวมอยู่ในหนังสือ Developments in Solidarity Economy in Asia (2013) [1] (บทที่ 6 หน้า 71-89) ซึ่งจัดพิมพ์โดย the Asian Solidarity Economy Council (ASEC)
สำหรับฉบับนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาของแนวคิด เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social AND Solidarity Economy) กับ เศรษฐกิจเพื่อสังคมสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งสองแนวคิดใช้อักษรย่อว่า SSE เหมือนกัน หากแต่ความหมายโดยนัยต่างกัน การทำความเข้าใจกระบวนการสร้างความคิดในเชิงหลักการและภาคปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่วัฒนธรรม ทั้งที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสเปน/โปรตุเกส เป็นเรื่องสำคัญในสร้างขบวนการเพื่อความสมานฉันท์ในระดับโลก เนื่องจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นมิได้เลยหากปราศจากการทำความคุ้นเคยกับสภาพความเป็นจริงที่ต่างกันออกไปในแต่ละวัฒนธรรมผ่านประสบการณ์ของหลากผู้คนที่อยู่ในขบวนการเหล่านี้
การที่องค์การระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ยอมรับแนวคิด SSE ให้เป็นส่วนหนึ่งของทางเลือกในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและโลกของเราได้เน้นย้ำว่ามีความจำเป็นต้องอธิบายจุดเริ่มต้น วิสัยทัศน์ และประวัติศาสตร์ของเราเพื่อประกาศจุดยืน อันเป็นเป้าประสงค์เบื้องต้นของงานชิ้นนี้ ผู้เขียนขอชี้แจงผู้อ่านที่เคยเห็นบทความฉบับก่อนหน้าอีกครั้งว่าในฉบับปรับปรุงได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับที่มาของแนวคิดเศรษฐกิจเพื่อสังคมสมานฉันท์(Social Solidarity Economy : SSE) ที่สมบูรณ์กว่าในฉบับก่อนหน้ามาก และได้เพิ่มเติมคำอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) เข้าไปในฉบับนี้ด้วย
ทั้งนี้ ขอขอบคุณ Ethan Miller จากสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างสูงที่อนุเคราะห์ให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) และขอขอบคุณงานวิทยานิพนธ์ในปี 2007 ของ Martine Theveniaut ที่ส่งเสริมให้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นกำเนิดของแนวคิดเศรษฐกิจเพื่อสังคมสมานฉันท์ (Social AND Solidarity Economy) ในแบบฝรั่งเศสของเรามีความลุ่มลึกขึ้นอย่างมาก
บทความชิ้นนี้มิได้สำรวจแนวปฏิบัติที่มีมานานหลายศตวรรษ หรือตั้งแต่ที่มนุษย์มีวิวัฒนาการเป็น สายพันธุ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ความสมานฉันท์และความร่วมมือกันคือวิธีการที่ทำให้มนุษยชาติยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ การที่เราทุกคนต่างตระหนักรู้ถึงคุณสมบัติพื้นฐานนี้นำมาสู่แรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวดในการให้ นิยามแก่แนวคิดเหล่านี้ไว้เป็นองค์ความรู้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมของมนุษยชาติที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
หมายเหตุ
ทุกความทุ่มเทที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของแนวคิดมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้นเป็นสิ่งน่ายินดีและจะถูกรวมอยู่ในการปรับปรุงครั้งต่อ ๆ ไป ส่วนในบทความนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์และมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น และขอขอบคุณ Paula Garuz, Brunilda Rafael และ Françoise Wautiez สำหรับการแปลเป็นภาษาสเปน
แนวคิดที่ศึกษา
1. เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy)
2. เศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy)
3. เศรษฐกิจเพื่อสังคมสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) หรือ เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social AND Solidarity Economy)
4. วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
5. ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterpreneur)
6. ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business)
7. วิสาหกิจไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Enterprise)
8. ภาคส่วนที่สาม (Third Sector)
9. ภาคส่วนที่สี่ (Fourth Sector)
10. เศรษฐกิจภาคประชาชน (Popular Economy)
11. การพัฒนาท้องถิ่น (Local Development)
12. การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อชุมชน (Community Economic Development)
13. การพัฒนาชุมชน (Community Development)
14. การพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-center Development)
Comments